(ep14) ประโยชน์ของการนำ OKRs มาใช้ในองค์กร
อัปเดตเมื่อ 13 ธ.ค. 2565

การนำ OKRs มาใช้ องค์กรจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ที่ผมพอจะสรุปเป็นเรื่องหลักๆ ได้มีอยู่ 6 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้
1. องค์กรที่ให้ความสำคัญและจริงจังกับ การมุ่งเน้นผลลัพธ์ (Result-Oriented) จะได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะ OKRs จะมุ่งเน้นให้ทำในเรื่องที่สำคัญ และมีผลกระทบอย่างมากต่อองค์กรเท่านั้น ส่วนเรื่องเล็กๆ จะไม่นำมากำหนดเป็น OKRs รวมถึงยังกำหนดให้มีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผลการดำเนินงานอย่างที่ต้องการ
2. การนำ OKRs มาใช้ จะกำหนดให้มีการตั้งเป้าหมายระยะสั้น เช่น 3 เดือน และเมื่อครบ 3 เดือนแล้ว ก็จะมาพิจารณาต่อว่าใน 3 เดือนต่อไป จะทำเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งการกำหนดกรอบการทำงานระยะสั้นแบบนี้ จะช่วยให้องค์กรมี ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ได้เป็นอย่างดี และมีความคล่องตัว ที่จะสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์
3. OKRs จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรได้มีการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ที่ดูเหมือนเป็นไปได้ยากมาก แต่ถ้าหากสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายที่ท้าทายนี้ ก็จะช่วยให้องค์กร เติบโตและก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดด (Exponential Growth) ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรให้เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และคาดไม่ถึงมากขึ้นในทุกวันนี้
4. OKRs จะเน้นที่การเชื่อมโยงประสานงานกัน มีการทำงานที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิด การทำงานร่วมกันเป็นทีม (Team Collaboration) ขึ้นในองค์กร ลดปัญหาการทำงานแบบไซโล (Silo) ที่ต่างคนต่างทำ โดยไม่สนใจเลยว่าหน่วยงานอื่นเขาทำงานอะไรกัน เหมือนที่มีการเปรียบเทียบว่า สวนบ้านอื่นเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่สวนบ้านฉันต้องเขียวเอาไว้ก่อน
5. ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของ OKRs คือการส่งเสริมให้มีตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ซึ่งเป้าหมายที่ยากและท้าทายแต่เป็นไปได้นี้ จะช่วยผลักดันให้พนักงานได้มีการ พัฒนาขีดความสามารถ (Capability Enhancement) ของตนเองให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายเหล่านี้ โดยไม่ต้องกังวลกับความล้มเหลวที่อาจจะเกิดขึ้นว่าจะส่งผลต่อการประเมินผลงานตอนสิ้นปีแต่อย่างใด
6. การนำ OKRs มาใช้ จะให้ความสำคัญอย่างมากกับการมีส่วนร่วมของพนักงานในทุกระดับ เป็นการเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงตั้งคำถามที่สงสัยได้อย่างรู้สึกปลอดภัยและเป็นอิสระ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ พนักงานมีความผูกพัน (Employee Engagement) กับองค์กรและมุ่งมั่นทำผลงานที่รับผิดชอบให้ได้ตามเป้าหมาย
บางส่วนจากหนังสือ OKRs@Work บริหารผลงานสู่ความเป็นเลิศด้วย OKRs
เขียนโดย กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์