(ep10) Feedback ที่จริงใจตรงไปตรงมา
อัปเดตเมื่อ 13 ธ.ค. 2565

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ เกิดความสำเร็จในงาน และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทีมงานด้วยกัน นั่นคือ การให้ข้อมูลป้อนกลับ หรือ Feedback ระหว่างกันและกัน
พูดถึงเรื่องการ Feedback ระหว่างกัน ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้อธิบายเกี่ยวกับการให้ข้อมูลป้อนกลับไว้อย่างน่าสนใจ หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า Radical Candor ซึ่งเขียนโดย คิม สก๊อต (Kim Scott) ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการร่วมงานมาทั้งกับแอปเปิลและกูเกิลมาแล้ว
ในหนังสือเล่มนี้ คิม ได้อธิบายว่าเวลาที่เราให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) หรือชื่นชมคนอื่น จะแสดงออกมาใน 4 ลักษณะ ซึ่งแต่ละลักษณะจะเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ขององค์ประกอบใน 2 ด้าน คือ ความใส่ใจ (Care Personally) และความท้าทายที่ตรงไปตรงมา (Challenge Directly) และจากความสัมพันธ์ทั้งสองประเด็นนี้นำมาซึ่งรูปแบบการสื่อสารใน 4 แบบ ได้แก่
รูปแบบแรก เราเรียกว่า ความก้าวร้าวที่น่ารังเกียจ หรือ Obnoxious Aggression จะเป็นการพูดแบบตรงไปตรงมา โดยไม่สนใจหรือห่วงใยในความรู้สึกของผู้ฟังเลย ซึ่งถึงแม้เราจะบอกว่าเป็นความหวังดี แต่ด้วยวิธีการที่แสดงออกมาที่ดูรุนแรงและก้าวร้าวนี้ อาจทำให้ผู้ฟังมองไม่เห็นหรือรับรู้ได้ถึงความหวังดีนั้น อาจนำไปสู่ความไม่พอใจและความขัดแย้งให้เกิดขึ้นตามมาได้ด้วย
รูปแบบที่สอง จะเรียกว่า การจูงใจแบบไม่จริงใจ หรือ Manipulative Insincerity จะเป็นการสื่อสารแบบเกรงใจ ไม่อยากที่จะเผชิญหน้า และไม่ได้สนใจด้วยว่าคนฟังหรือที่ได้รับข้อมูลจะรู้สึกอย่างไร เช่น การพูดลับหลัง หรือการแจ้งให้ทราบโดยไม่ได้แสดงตัว หรือเป็นการพูดอ้อมๆ โดยไม่กล้าที่จะพูดแบบตรงไปตรงมา กลัวจะเกิดปัญหากับตัวเองว่าอาจจะเดือดร้อนในภายหลังได้
รูปแบบที่สาม เรียกว่า การทำร้ายกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ หรือ Ruinous Empathy อันนี้จะเป็นกันบ่อย เป็นการสื่อสารแบบที่ไม่กล้าที่จะพูดตรงๆ ด้วยความเกรงอกเกรงใจ หรือกลัวว่าถ้าพูดตรงออกไปแล้วจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเสียใจ หรืออาจจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกรังเกียจผู้พูดก็ได้ (กลัวว่าพูดไปแล้ว เขาจะไม่รัก) เลยเปลี่ยนมาเป็นการชื่นชม หรือการพูดให้ดูดี พูดให้ผู้ฟังรู้สึกดี จนอาจกลายเป็นเรื่องที่ไม่จริง และทำให้เกิดความเข้าใจผิด ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้
รูปแบบสุดท้าย รูปแบบที่สี่ เรียกว่า จริงใจแบบตรงไปตรงมา หรือ Radical Candor ซึ่งเป็นการสื่อสารที่เหมาะสมกับกาลเทศะ และกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการชมเมื่อถึงเวลาที่ควรชม และวิพากย์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาด้วยความปรารถนาดี ด้วยความรักและความเมตตาที่มีต่อผู้ฟัง ด้วยความคาดหวังให้เกิดการนำไปปรับปรุงแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เป็นการทำอย่างบริสุทธิใจ ที่ต้องการจะช่วยเหลือ หรือให้กำลังใจกันจริงๆ
ซึ่งคิม สก๊อต ได้แนะนำไว้ว่าในองค์กร ควรจะสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่คนในองค์กรกล้าที่จะให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) หรือชื่นชม (Recognition) กันและกันแบบ จริงใจตรงไปตรงมา หรือ Radical Candor ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้
กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์