Ford v Ferrari & OKRs
อัปเดตเมื่อ 19 พ.ค. 2564

ตั้งแต่ได้มีโอกาสดูภาพยนตร์ตัวอย่างของ Ford v Ferrari ช่วงต้นปี 2018 ผมก็มักจะเอาไปเล่าในการบรรยาย OKRs บ่อยๆ ในช่วงนั้นว่า มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ผมว่ามีการตั้งเป้าหมาย และบริหารผลงานในแบบ OKRs และเมื่อมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ก็พบว่ามีประเด็นที่สอดคล้องกับแนวทางของ OKRs ที่ชัดเจนมาก
ก่อนที่จะเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับ OKRs อย่างไร ขอเล่าเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้สักหน่อย สำหรับคนที่อาจจะไม่ได้ชมเรื่องนี้
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ช่วงปี 1963-1966 ที่ในยุคนั้น Ford Motor ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ Henry Ford ที่ 2 ต้องการแก้ปัญหาด้านผลประกอบการของบริษัท มีไอเดียหนึ่งถูกเสนอขึ้นมาจาก Lee Iacocca ผู้บริหารของ Ford ที่ดูแลด้านการตลาด (คนคนนี้ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในวงการรถยนต์ เพราะหลังจากออกจาก Ford ก็ย้ายมาเป็นเบอร์หนึ่งของ Chrysler ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อีกค่ายหนึ่ง และทำให้ Chrysler ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นหนึ่งใน Big 3 ของวงการรถยนต์อเมริกา)
ข้อเสนอคือให้ Ford กระโดดเข้าสู่วงการรถแข่ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ๆ โดยมีแผนที่จะเข้าไปซื้อกิจการของ Ferrari ค่ายรถแข่งจากอิตาลี ที่บริหารงานโดย Enzo Ferrari ซึ่งตอนนั้นถือเป็นเจ้าแห่งวงการรถแข่งระดับโลกเลย แต่ก็มีปัญหาเรื่องการเงินอย่างมาก ผลของการเจรจาออกมาคือ Ford อกหักครับ เพราะ Ferrari ตัดสินใจขายกิจการให้กับ Fiat แถม Ford ยังถูกเยาะเย้ยว่าไม่เข้าใจถึงจิตวิญญาณของรถแข่งอีกด้วย
งานนี้ทำเอา Henry Ford ที่ 2 ถึงกับเลือดขึ้นหน้า ในเมื่อไม่ขาย ก็ไม่เป็นไร ถ้างั้น Ford ก็จะพัฒนารถของตัวเอง แล้วเอามาแข่งให้ชนะ Ferrari ให้ได้ โดยเล็งไว้ที่การแข่ง Le Mans 24 ชั่วโมง (24 Hours of Le Mans)
ขออธิบายนิดนึงว่า การแข่ง Le Mans นี้เป็นรายการแข่งรถในประเทศฝรั่งเศส ที่มีการจัดการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1923 จนถึงทุกวันนี้ เป็นการแข่งขันที่นักแข่งต้องขับรถต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงด้วยความเร็วสูง โดยรถแต่ละคันจะใช้นักแข่งสลับกันขับ และจะนับจำนวนรอบที่ขับได้เมื่อครบ 24 ชั่วโมง ถือเป็นการแข่งขันที่ทดสอบถึงสมรรถนะและความทนทานของรถแข่ง ความสามารถของนักแข่งที่ต้องขับด้วยความเร็วสูงตลอดเวลา รวมถึงต้องมีทีมงานที่สุดยอดในการวางแผน มีเทคนิคในการแก้ปัญหา และการปรับเปลี่ยนแผนกันตลอดการแข่งขัน
เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะพัฒนารถแข่งเป็นของตัวเอง คำถามคือจะเอาใครมาทำ สุดท้ายก็มาลงเอยที่ Carroll Shelby อดีตนักแข่งรถชาวอเมริกัน เจ้าของ Shelby American ที่เคยได้แชมป์ Le Mans มาก่อนสมัยเป็นนักแข่ง แต่ด้วยปัญหาสุขภาพ เลยต้องยุติบทบาทนักแข่ง แล้วหันมาเป็นนักออกแบบรถยนต์แทน โดยมีเป้าหมายให้กับ Carroll Shelby คือ “จะต้องสร้างรถแข่งของ Ford ที่ชนะ Ferrari ในการแข่ง Le Mans ให้ได้ภายใน 90 วัน”
อันนี้ถ้ามองในมุมของ OKRs นี้คือการตั้งเป้าหมายตามแนวทางแบบ OKRs เลย ตั้งแต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์หรือทิศทางของผู้บริหารของ Ford เป็นเป้าหมายที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม เข้าใจตรงกัน สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด มีความท้าทายอย่างมาก แต่ก็เป็นไปได้ และสุดท้ายเป็นเป้าหมายที่สร้างแรงบันดาลใจ
ด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองภายในองค์กร การเข้ามาแทรกแซงของฝ่ายบริหารที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ และการตลาด ทำให้การแข่งขันครั้งแรกของ Ford ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งอย่าง Ferrari ได้
ซึ่งถึงแม้จะล้มเหลว แต่ในมุมมองของ Carroll Shelby กลับมองว่าถึงจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายก็ตาม แต่ผลของความพยายามก็สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว เพราะในระหว่างการแข่ง มีบางช่วงที่รถของ Ford ทำความเร็วได้เหนือกว่า Ferrari นั่นคือทำให้ Ferrari เริ่มหันมาให้ความสนใจในรถของ Ford มากขึ้น หรือพูดอีกอย่างได้ว่า ทำให้ Ferrari เริ่มกังวลกับ Ford แล้ว นั่นเป็นมุมมองของ Carroll Shelby
หลังจากที่ Henry Ford ที่ 2 ได้ให้โอกาสกับ Carroll Shelby อีกครั้ง คราวนี้ Carroll Shelby ได้ยื่นคำขาดที่จะขอเป็นคนตัดสินใจเองทั้งหมด จากนั้น Carroll Shelby ได้พยายามทำในสิ่งที่ตั้งใจจะทำตั้งแต่แรกเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (Objectives) ในการชนะการแข่ง ว่าจะต้องมี 3 อย่าง คือ รถแข่ง นักแข่ง และทีมงาน ที่ใช่ทั้งหมด ซึ่งทั้งสามข้อนี้ ก็คือผลลัพธ์ที่สำคัญ หรือ Key Results (KRs) ที่จะทำให้วัตถุประสงค์ (Objectives) ประสบความสำเร็จนั่นเอง
ในปีต่อมา ด้วยการปรับปรุงรถแข่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การได้นักแข่งรถอย่าง Ken Miles มา (หลังจากที่ไม่ได้ไปแข่งในปีแรก) รวมถึงทีมงานที่ทำงานเป็นทีมอย่างลงตัว ทำให้ Ford สามารถเอาชนะ Ferrari ได้อย่างสมบูรณ์แบบในการแข่ง Le Mans ปี 1966 ด้วยรถแข่งในตำนานอย่าง Ford GT40 (ชื่อ GT ย่อมาจาก Grand Touring และเลข 40 นั่นมาจากความสูงของรถนั่นคือ 40 นิ้ว) รถของ Ford สามารถเข้าเส้นชัยทั้งอันดับ 1 อันดับ 2 และอันดับ 3 (ตอนเข้าเส้นชัยก็ยังมีการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารอยู่อีก)
และหลังจากนั้น Ford ก็ยังสามารถสร้างความสำเร็จในสนามแข่งรถ Le Mans ได้อีกอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถชนะในการแข่ง Le Mans อีก 3 ปีติดต่อกัน (1966-1969) ทั้งหมดเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ ที่ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการบริหารผลงานในแบบ OKRs ที่เน้นการตั้งเป้าหมายที่ สำคัญ ชัดเจน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ท้าทาย และสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงการกำหนดผลลัพธ์ที่สำคัญ หรือสิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้วัตถุประสงค์ประสบความสำเร็จ
กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์