top of page

หลักธรรมกับการบริหารผลงานด้วย OKRs

อัปเดตเมื่อ 1 ต.ค. 2565


วันก่อนมีโอกาสบรรยายเรื่อง OKRs ถวายให้กับพระอาจารย์ รวมถึงให้กับอาจารย์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีคำถามหนึ่งที่ได้รับมาหลังจากบรรยายว่า จะมีหลักธรรมทางพุทธศาสนาในเรื่องใดบ้าง ที่จะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับการบริหารผลงานด้วย OKRs ได้


เป็นคำถามที่ดีและท้าทายอย่างมากเลยครับ



หากนึกถึงหลักธรรมคำสั่งสอนในพุทธศาสนาที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการบริหารผลงานด้วย OKRs (Objectives and Key Results) ผมจะนึกถึงสองเรื่องนี้ครับ นั่นคือ อิทธิบาท 4 และพรหมวิหาร 4


ในการบริหารผลงานด้วย OKRs จะเป็นการทำงานในเรื่องที่สำคัญ และมีคุณค่าทั้งต่อองค์กร บุคลากรในองค์กร รวมถึงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทาย เพื่อให้องค์กรมีผลงานที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด มีความมุ่งมั่นทุ่มเท และการทำงานที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงจะต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด มีการทบทวนและวิเคราะห์ถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งจากความสำเร็จ และจากปัญหาอุปสรรคต่างๆ นำมาใช้ในการพัฒนาทั้งกับคนทำงาน และองค์กรให้มีผลงานที่ดีขึ้นด้วย

...

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ จะสอดคล้องกันกับหลักธรรมในเรื่องของ อิทธิบาท 4


ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ที่เขียนโดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ระบุไว้ว่า อิทธิบาท 4 นั้นเป็นหลักธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จอย่างที่ต้องการ ประกอบด้วย


1. ฉันทะ หรือความพอใจ หมายถึง ความต้องการที่จะทำ มีความใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป


2. วิริยะ หรือ ความเพียร หมายถึง ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย


3. จิตตะ หรือความคิด หมายถึง การตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป


4. วิมังสา หรือความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง หมายถึง การหมั่นใช้ปัญญา เพื่อพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และทำการตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล รวมถึงคิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง


หรือที่พระเมธีวชิโรดม (ว วชิรเมธี) ได้สรุปเอาไว้ว่า หลักอิทธิบาท 4 เป็นหลักพื้นฐานของความสำเร็จ นั่นคือ มีใจรัก (ฉันทะ) พากเพียรทำ (วิริยะ) จดจำจ่อจิต (จิตตะ) วินิจวิจัย (วิมังสา)


ทั้งนี้ในการนำ OKRs มาใช้ให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นที่องค์กรจะต้องสร้างให้เกิด CFR ขึ้นในองค์กรด้วย โดย CFR นั้น จะประกอบด้วย Conversation (การสนทนาอย่างมีคุณภาพ) Feedback (การเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์) และ Recognition (การยอมรับ การชื่นชมให้กำลังใจ)


ในขณะที่ OKRs จะเน้นที่กระบวนการทำงานที่จะต้องมีความชัดเจน เป็นระบบ และมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน CFR จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คนในองค์กร ที่จะช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกัน ปรารถนาดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน และดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลกันและกัน เหมือนเป็นสิ่งที่ช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างราบรื่น และมีความสุข


ซึ่งจะสอดคล้องกันกับหลักธรรมในเรื่องของ พรหมวิหาร 4


ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ระบุว่า พรหมวิหาร 4 หมายถึง ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ ธรรมประจำใจอันประเสริฐ หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ ประกอบด้วย


1. เมตตา หมายถึง ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรี และคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า


2. กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์

3. มุทิตา หมายถึง ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป


4. อุเบกขา หมายถึง ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน


หรือจะสรุปสั้นๆ ว่า พรหมวิหาร 4 นั้น เป็นธรรมสำหรับการอยู่ร่วมกัน ที่ปรารถนาให้เขามีความสุข (เมตตา) ให้ความช่วยเหลือเพื่อพ้นทุกข์ (กรุณา) ยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น (มุทิตา) และ วางใจเป็นกลางต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น (อุเบกขา)


ดังนั้น องค์กรจะต้องมีการดำเนินงานทั้ง OKRs และ CFR ควบคู่กันไป มีคนเปรียบว่า OKRs และ CFR เหมือนขาซ้าย และขาขวาที่จะต้องทำงานไปด้วยกัน และสอดประสานกันอย่างดี ถึงจะทำให้ตัวเราก้าวเดินไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างต่อเนื่อง


กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์

29 มิถุนายน 2564

ดู 210 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page